ยินดีต้อนรับทุกท่าน

ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำด้วยนะครับ

IEL079

การสัมนาทางการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การตรวจการจ้างและการควบคุมงานจ้างเหมาก่อสร้างกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ขั้นตอนการบริหารสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการตรวจการจ้างและการควบคุมงานซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
มักจะมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายผู้ว่าจ้างและฝ่ายผู้รับจ้าง โดยมีสาเหตุมาจากหลายๆ สาเหตุ มากบ้างน้อยบ้างตามสภาพของงานและลักษณะของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
แต่ความไม่ตระหนักรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจก่อให้เกิดความรับผิดทางละเมิดทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา


การตรวจการจ้างและการควบคุมงานก่อสร้างเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ทำให้การบริหารสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ทำหน้าที่ “กรรมการตรวจการจ้าง” และ “ผู้ควบคุมงาน” นอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจงาน วิศวกรรมการก่อสร้างงานชลประทาน ต้องมีความรู้ความเข้าใจอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจเงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุไว้ในสัญญาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะถ้าหากมีความรู้ไม่ดีพอ ไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนในระเบียบข้อกฎหมายหรือสัญญาต่างๆ อาจตัดสินใจโดยขาดความรอบคอบ ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือบุคคลภายนอก นำไปสู่การฟ้องร้องต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดได้


ศักดิ์ชัย ขำเจริญ (2550) กล่าวว่า “ทุกท่านคงต้องยอมรับกันว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง จึงยังเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางสมาคมฯ จะต้องให้บริการแก่สมาชิก และผู้สนใจรู้และเข้าใจระเบียบให้มากที่สุด เราคิดเสมอว่าเป็นภาระหน้าที่ของเราที่ต้องทำ เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์กับทุก ๆ คนที่ทำงานในด้านพัสดุแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมคือประเทศชาติอีกด้วย และอีกประการหนึ่งตำแหน่งงานด้านพัสดุในปัจจุบันเราเห็นว่าน่าจะเป็นงานวิชาชีพเฉพาะด้าน ไม่ใช่ใครตำแหน่งใดจะมาทำก็ได้ ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นอย่างมากมายในการถูกสอบสวนทางวินัย ถูกชดใช้ทางแพ่ง ฯลฯ เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่รู้ หรือไม่เข้าใจระเบียบอย่างแท้จริง นอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อการปฏิบัติงานแล้ว ยังส่งผลให้ตัวผู้ปฏิบัติเอง และผู้บังคับบัญชาต้องเดือดร้อนไปด้วย”

จากคำกล่าวข้างต้นอาจสรุปได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐแม้จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริตก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคลคลภายนอกหรือแก่หน่วยงานของรัฐ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ซึ่งตามแนวความคิดของนักกฎหมายไทยเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เดิมนั้น เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้แตกต่างจากการกระทำของประชาชนทั่วไป หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลอื่นหรือแม้แต่แก่หน่วยงานของรัฐเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดนั้นก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย หรือรัฐแล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้น เสมือนหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นได้กระทำในฐานะส่วนตัว หากการละเมิดนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน ไม่ว่าจะเป็นกรณี เจ้าหน้าที่แต่ละคนร่วมกันกระทำละเมิด หรือในกรณีเจ้าหน้าที่แต่ละคนมิได้ร่วมกันกระทำละเมิด แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการละเมิดขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายหรือแก่รัฐ แล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความเสียหาย ถ้าไม่สามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งหรือหลายคนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ คนที่เหลือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนเต็มจำนวนอยู่นั่นเอง ซึ่งข้อความคิดในการกำหนดความรับผิดในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดเช่นว่านี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด


อย่างไรก็ดีแม้ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวจะทำให้รัฐสามารถเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่รัฐต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายไปก่อน หรือสามารถชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐเองได้จนเต็มจำนวน แต่ในทางตรงกันข้ามหลักเกณฑ์ดังกล่าว กลับกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ด้วยเกรงว่าการกระทำของตนอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และตนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวทั้ง ๆ ที่การกระทำของ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่เป็นการกระทำแทนรัฐ และเจ้าหน้าที่ก็ได้รับค่าตอบแทนต่ำอยู่แล้ว หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ สภาพการไม่กล้าที่จะตัดสินใจกระทำการตามอำนาจ หน้าที่นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐในอดีต ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งผลเสียก็จะตกแก่ประชาชนในที่สุด


เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งออกมาเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้บริการอันเป็นสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทหนึ่งเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้แก่การทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นการกระทำที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ แต่เพื่อประโยชน์หรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัว ซึ่งหากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกหรือแก่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ ที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แล้วก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลภายนอกหรือแก่หน่วยงานรัฐเอง หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยหน่วยงานของรัฐต้องรับภาระในความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงพิจารณาว่าสามารถเรียกเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำละเมิดนั้นมาชดใช้ค่าเสียหายทดแทนรัฐได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้ละเมิดนั้นบกพร่องในหน้าที่มากน้อยเพียงใด หากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่นั้น “เป็นความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ” ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้สินไหมทดแทนที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้เสียหายไปแล้ว กรณีที่การกระทำละเมิดนั้นเกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ “อย่างมากหรืออย่างร้ายแรง” สมควรที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ให้ผู้เสียหายไปแล้ว หรือแก่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมากหรืออย่างร้ายแรงดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมิได้ใช้ความรอบคอบหรือความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เลย


จากบางส่วนของแนวคิดใหม่เกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตัดสินโดยพิจารณาจากผลการกระทำว่าเสียหายหรือไม่ และความบกพร่องหรือไม่พิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบพัสดุฯ หรือไม่ ซึ่งมีข้อจำกัดกล่าวคือ เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำละเมิดอาจไม่รู้ และไม่เข้าใจในระเบียบ หรือภาระงานมากมีความยุ่งยากซับซ้อนจนเกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงโดยไม่ตั้งใจ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องรับผิดทางละเมิดและต้องชดใช้สินไหมทดแทน ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้วิจัยยังมีความเห็นว่าผลดังกล่าวยังคงไม่ยุติธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ และยังบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานเช่นเดิม เนื่องจากหากพิจารณาถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม ของวิลเลียม ดับบลิว รีดเดอร์ (Willium W. Reeder) (อ้างถึงในฉวีวรรณ จันทรัตน์,2540 ,หน้า 55-58) นักสังคมวิทยาชนบทศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลและตั้งขึ้นเป็นทฤษฎีว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับการตัดสินใจหรือการกระทำทางสังคม (The Multiple Factor Theory of Decision Making and Social Action) พอสรุปได้ว่า การตัดสินใจของบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงประการเดียว หากแต่จะมีกลุ่มของเหตุผลซึ่งอาจจะเป็นเหตุที่มาจากปัจจัยต่างๆ ประกอบกันช่วยกันสนับสนุนการตัดสินใจ และการตัดสินใจแต่ละครั้งอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามแต่ละบุคคลในแต่ละสถานการณ์ กลุ่มเหตุผลในการแสดงพฤติกรรมมาจากปัจจัยต่อไปนี้ เช่น เป้าหมาย คือ กิจกรรม หรือสภาพความเป็นอยู่ที่บุคคลปรารถนาหรือต้องการ ความเชื่อ ได้แก่ ความคิด ความรับรู้ ความเข้าใจ ค่านิยม ความคาดหวังข้อผูกพัน ต้องการทำให้สอดคล้องกับสภาพนั้นๆ โอกาสเปิดให้เลือกทำหรือไม่ทำ พลังความสามารถของคนในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และการสนับสนุนจากผู้อื่น เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไปเติมพลังที่เกาะกูด



บ้านเรามีสถานที่ ที่จะไปหลบร้อนเพื่อเติมพลังก่อนกลับมาวุ่นวายกับการทำงานหลายที่ ผมขอแนะนำอีกหนึ่งสถานที่สำหรับคนที่ต้องการความสงบท่ามกลางธรรมชาติที่ยังคงความเป็นตัวตนของตัวเองได้อย่างดี ทะเลที่เกาะกูด จังหวัดตราด




















ไปมาแล้วครับ...........

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

กรณีศึกษา การอนุญาโตตุลาการ ระหว่างส่วนราชการ กับ เอกชน
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติ
The Case Study of The Arbitration Between The Government Bureau and The Private Sector About the contract of Swamp and Canal Digging

นายธีระพงษ์ ปากเมย
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง theerapong2504@hotmail.com


บทคัดย่อ

การระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทตกลงกันตั้งบุคคลที่สามที่มีความรู้ความสามารถในสาขาที่พิพาทมาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกัน เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดอย่างใดแล้วย่อมผูกพันคู่พิพาท เป็นวิธีการที่รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย รักษาชื่อเสียง เป็นความลับ รักษาความสัมพันธ์ ความสมประโยชน์ของคู่พิพาท แบ่งเบาภาระศาล สามารถรวมอนุญาโตตุลาการที่มีทักษะและความรู้ในระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน กรณีศึกษานี้ เป็นการศึกษาข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับเอกชน ที่ตกลงทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและใช้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ในปี พ.ศ.2538 ซึ่งต่อมาผู้รับจ้างถูกยกเลิกสัญญาในปี พ.ศ.2539 และไม่ชำระค่าปรับให้ครบถ้วน กรมชลประทานได้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจนได้รับคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการในปี พ.ศ.2550 ว่า ผู้รับจ้างเป็นฝ่ายผิด และให้ชำระค่าปรับให้กรมชลประทาน นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาคดีและค่าป่วยการของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายละครึ่ง ผลการศึกษาพบว่า การระงับข้อพิพาทดังกล่าวใช้ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี ทั้งนี้ส่วนราชการเห็นว่ามักจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่การดำเนินคดีทางศาล คู่กรณีมีโอกาสต่อสู้คดีได้ถึง 3 ศาล ทำให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นรวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายในชั้นศาล อีกทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ให้สามารถเลือกใช้การระงับข้อพิพาทได้ตามความเหมาะสม กรมชลประทานจึงได้ยกเลิกการใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538

คำสำคัญ : การระงับข้อพิพาท, อนุญาโตตุลาการ, การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ

Abstract

Dispute Settlement by using the arbitration so the litigant needs to set up the third party who is expert in that field to make the judgment. After the arbitrators had made the final decision then it would be involved with both sides. They do need to follow the verdict strictly. This method is fast, reducing the cost, not losing the face, confidential, saving their relationship, advantage for both sides, and lighten the load of court’s work. The benefit is; there will be many expert arbitrators who have the knowledge of laws quite well. This case study was the problem which happened between the Royal Irrigation Department and the Private Sector in 1995 and later the contractor was canceled the agreement in 1996. A fine was not paid fully at that time. The Royal Irrigation Department took quite a while to get the final verdict from the arbitrators in 2007 and the contractor was guilty. A fine needed to pay. Both sides paid for the court expense, too. This case took about 11 years to make a settlement. The government bureau often be disadvantageous from this problem also. It needed to go through 3 courts to get the fair lawsuit. Later the court expense didn’t need to pay. The Office of the Prime Minister had set the 1992 rules about the inventory or parcel work that the government bureaus can chose the best way to dispute settlement. Therefore, the Royal Irrigation Department canceled to use the arbitration in 1995.

Keyword : Dispute Settlement, Arbitrators, Arbitration

1. บทนำ
การระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการมีหลักสำคัญอันหนึ่งคือ กระบวนการต่างๆ จะทำเป็นความลับเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงชื่อเสียงและความสัมพันธ์ของคู่กรณี บุคคลภายนอกจะไม่มีโอกาสเข้าไปล่วงรู้ข้อมูลในความลับนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อเป็นกรณีศึกษาในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ระหว่างส่วนราชการกับเอกชน โดยสัญญานี้เป็นสัญญาของกรมชลประทานที่ดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538 และใช้การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท

2. สาระสำคัญของสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง
2.1 สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติ คู่สัญญาได้แก่ กรมชลประทาน กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. โดยตกลงจ้างเหมาก่อสร้างขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติ ในเขตจังหวัดอุดรธานี วงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญา 4,777,994.29 บาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 150 วัน

2.2 ค่าปรับ : สัญญาข้อ 15
หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงิน วันละ 4,777.99 บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาหรือวันที่ผู้ว่าจ้างได้ขยายให้จนถึงวันที่งานแล้วเสร็จ
หากผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ว่าจ้างจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาก็ได้ และถ้าผู้ว่าจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องไปยังผู้รับจ้างเมื่อครบกำหนดแล้วเสร็จของงานขอให้ชำระค่าปรับแล้ว ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะปรับผู้รับจ้างจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกด้วย

2.3 กรณีข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ : สัญญาข้อ 19
19.1 ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด
19.2 เว้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องกันให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวเป็นผู้ชี้ขาด การระงับข้อพิพาทให้กระทำโดยอนุญาโตตุลาการ 2 คน โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะทำหนังสือแสดงเจตนาจะให้มีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท และระบุชื่ออนุญาโตตุลาการคนที่ตนแต่งตั้งส่งไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นภายในระยะเวลา 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งดังกล่าว คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับแจ้งจะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนที่สอง ถ้าอนุญาโตตุลาการทั้งสองคนดังกล่าวไม่สามารถประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นได้ให้อนุญาโตตุลาการทั้งสองคนร่วมกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับจากวันที่ไม่สามารถตกลงกัน ผู้ชี้ขาดดังกล่าวจะพิจารณาระงับข้อพิพาทต่อไป กระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้ถือตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม โดยอนุโลม หรือตามข้อบังคับอื่นที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเห็นชอบและให้กระทำในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการดำเนินกระบวนการพิจารณา
19.3 ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนหรือในกรณีที่อนุญาโตตุลาการทั้งสองคนไม่สามารถตกลงกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิร้องขอต่อศาลแพ่ง เพื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรืออนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี
19.4 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา
19.5 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนและออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินการกระบวนพิจารณาฝ่ายละครึ่ง ในกรณีที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด ให้อนุญาโตตุลาการหรืออนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดเป็นผู้กำหนดภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดคนเดียวแล้วแต่กรณี
- สัญญานี้ผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างเข้าปฏิบัติงานและผู้รับจ้างรับทราบเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2538 เริ่มนับอายุสัญญาวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2538 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2538

2.4 รายละเอียดปริมาณงาน

3 ผลการดำเนินการตามสัญญา
3.1 ผลการดำเนินถึงวันสิ้นสุดอายุสัญญา
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2538 สิ้นสุดอายุสัญญา ผู้รับจ้างปฏิบัติงานได้ผลงานเพียง 10.17 % กรมชลประทานมีหนังสือแจ้งผิดสัญญาพร้อมสงวนสิทธิ์ปรับ ผู้รับจ้างมีหนังสือชี้แจงและยินยอมให้ปรับ และขอทำงานต่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2539 ได้ผลงาน 25%

3.2 การบอกเลิกสัญญา
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 ผู้ควบคุมงานรายงานว่าไม่มีผลงานก้าวหน้าและไม่มีการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง คณะกรรมการตรวจการจ้าง มีหนังสือเตือน 2 ฉบับแต่ผู้รับจ้างเพิกเฉย คณะกรรมการฯ จึงเสนอกรมชลประทาน บอกเลิกสัญญา
วันที่ 1 สิงหาคม 2539 กรมชลประทานบอกเลิกสัญญา พร้อมแจ้งให้ผู้รับจ้างชำระค่าปรับ 413 วันๆ ละ 4,777.39 บาท เป็นเงิน 1,973,309.87 บาท ผู้รับจ้างมีหนังสือขอชะลอค่าปรับและขอส่งมอบงาน

3.3 การส่งมอบงาน
วันที่ 30 กันยายน 2539 ผู้รับจ้างส่งมอบงานงวดที่ 1 กรมชลประทานได้ตรวจรับงานและอนุมัติจ่ายเงินค่างานเป็นเงิน 1,290,519 บาท หักภาษีเงินได้ของนิติบุคคล 19,000.93 บาท คงเหลือสุทธิ 1,271,518.07 บาท ได้หักเป็นค่าปรับบางส่วน และได้แจ้งให้ผู้รับจ้าง ชำระค่าปรับส่วนที่ขาดอีก 701,791.80 บาท ผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมชำระ แต่ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน กรมชลประทานพิจารณาแล้วไม่สามารถผ่อนชำระได้เนื่องจากไม่มีระเบียบหรือข้อตกลง ผู้รับจ้างขอความเป็นธรรม ขอให้ตรวจงานที่ส่งไปแล้ว น่าจะมีปริมาณงานในสัดส่วนที่เพียงพอเป็นค่าปรับที่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ กรมชลประทานพิจารณาข้อเท็จจริงและเหตุผลแล้วยืนยันการตรวจรับงานในส่วนของราคาและปริมาณงานที่ดำเนินการไปถูกต้องแล้ว
วันที่ 10 เมษายน 2540 ผู้รับจ้างขอส่งมอบงานงวดที่ 2 เป็นเงิน 1,132,399.70 บาท กรมชลประทานไม่เห็นด้วยกับคำขอของผู้รับจ้าง และเห็นว่าผู้รับจ้าง มีเจตนาประวิงเวลาในการชำระค่าปรับอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ประกอบกับได้ยืดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างนานพอสมควรแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

4. การดำเนินการทางด้านกฎหมาย
4.1 สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง เขต 4
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2542 กรมชลประทานส่งเรื่องให้สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง เขต 4 เพื่อจัดพนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดี กรณีผิดสัญญาเรียกค่าปรับเป็นทุนทรัพย์ จำนวน 701,791.80 บาท สำนักอัยการจังหวัดขอนแก่นพิจารณาว่า เป็นคดีพิพาททางปกครอง จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคดีปกครองขอนแก่นพิจารณาดำเนินการต่อไป

4.2 สำนักงานคดีปกครองขอนแก่น
ได้ส่งเรื่องคืนให้กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญา เนื่องจากการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ยื่นฟ้องต่อศาลต่อศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งคดีได้พ้นกำหนดระยะเวลายื่นฟ้องแล้ว หากยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลจะไม่รับคำฟ้องและเห็นว่าตามสัญญาข้อ 19.1 ได้กำหนดไว้ว่า “ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้ และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด”

5. การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
กรมชลประทานส่งเอกสารผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าวให้พนักงานอัยการสูงสุด เพื่อมอบอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการและขอให้จัดพนักงานอัยการยื่นคำเสนอข้อพิพาท ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ชดใช้ค่าปรับฐานผิดสัญญาจ้าง
5.1 การยื่นเสนอข้อพิพาท
วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนผู้เรียกร้อง(กรมชลประทาน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้ผู้คัดค้าน (ผู้รับจ้าง) ชำระเงินค่าปรับและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเสนอข้อพิพาทถึงวันชำระเสร็จสิ้น

5.2 การยื่นคำคัดค้าน/คำแก้ข้อเรียกร้อง
วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ผู้คัดค้าน (ผู้รับจ้าง) ได้ยื่นคำคัดค้านต่อ สถาบันอนุญาโตตุลาการ พอสรุปได้ว่า ผู้เรียกร้องไม่มีความเสียหายใดๆ และไม่มีหลักฐานความเสียหายใดๆ ที่จะเรียก สถาบันอนุญาโตตุลาการได้ส่งสำเนาคำคัดค้านให้พนักงานอัยการ ผู้รับมอบอำนาจผู้เรียกร้อง ยื่นคำแก้ข้อเรียกร้องแย้งภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือนี้
วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2549 พนักงานอัยการ ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนผู้เรียกร้อง ได้ยื่นคำแก้ข้อเรียกร้อง

5.3 การประชุมคณะอนุญาโตตุลาการ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ได้มีการประชุม คณะอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายผู้เรียกร้อง ฝ่ายผู้คัดค้าน และผู้เกี่ยวข้อง คณะอนุญาโตตุลาการได้แถลงเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนี้ต่อคู่พิพาททั้งสองฝ่าย คู่พิพาททั้งสองฝ่ายแถลงไม่คัดค้านอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาคำเสนอข้อพิพาทคำคัดค้านแล้ว ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยความเห็นของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ดังนี้
1. ผู้เรียกร้องมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้คัดค้านที่ 2 (หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือไม่
2. คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนี้หรือไม่
3. คู่พิพาทฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา
4. คดีของคู่พิพาทขาดอายุความหรือไม่
5. ผู้เรียกร้องมีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด
6. ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือไม่ เพียงใด
7. ฝ่ายผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกร้องค่างานหรือไม่ เพียงใด
การพิจารณาประเด็นข้อพิพาท
- ประเด็นข้อ 1 และข้อ 2 เป็นประเด็นข้อกฎหมาย คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้เอง
- ประเด็นข้อ 3 และ ข้อ4 ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้าง ต่างฝ่ายต่างมีภาระการพิสูจน์ในข้อกล่าวอ้าง ของตน
- ประเด็นข้อ 5 และ ข้อ 6 ผู้เรียกร้องกล่าวอ้าง จึงมีภาระการพิสูจน์
- ประเด็นข้อ 7 ฝ่ายผู้คัดค้านกล่าวอ้าง จึงมีภาระการพิสูจน์
ให้ผู้เรียกร้องนำสืบก่อน แล้วให้ผู้คัดค้านนำสืบภายหลัง ในการนำสืบพยานให้ผู้พิพาททั้งสองฝ่ายยื่นบันทึกคำให้การพยานฝ่ายตนทุกปากเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม (ถ้ามี) พร้อมทั้งคำซักถามพยานหมาย (ถ้ามี) จากนั้นได้นัดสืบพยานฝ่ายผู้เรียกร้อง และนัดสืบพยานฝ่ายผู้คัดค้าน

5.4 คำชี้ขาด/บัญชีแนบท้ายคำชี้ขาด
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานบุคคล พยานเอกสารที่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ววินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท มีคำชี้ขาดดังนี้
1. ผู้เรียกร้องมีสิทธิ์ยื่นข้อเรียกร้องกับผู้คัดค้านที่ 2 ตามข้อสัญญาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้
2. คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนี้ได้
3. ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา
4. คดีไม่ขาดอายุความ
5. เห็นสมควรลดค่าปรับลงบางส่วนเป็นเงิน 300,000 บาท คงเหลือเบี้ยปรับเป็นเงิน 1,673,309.87 บาท ผู้คัดค้านส่งมอบงานคิดผลงานเป็นเงินเพียง 1,290,519 บาท และผู้เรียกร้องได้เงินตามหนังสือค้ำประกันไปแล้วเป็นเงิน 238,900 บาท หักแล้วผู้คัดค้านต้องชำระอีก 162,891.80 บาท
6. ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในบรรดาหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน
7. ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านส่งมอบงานจริงหรือไม่ เนื่องจากคดีขาดอายุความเกินกว่า 2 ปี
บัญชีแนบท้ายคำชี้ขาด อาศัยอำนาจตามมาตรา 46 และ 47 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และข้อ 36 แห่งข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการ ได้กำหนดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าป่วยการ รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 80,118 บาท ให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายออกใช้ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้รับจ้างได้นำเงินตามที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด(พร้อมดอกเบี้ย) มาชำระแก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550

6. สรุป
จากกรณีศึกษาที่นำเสนอนี้ จะเห็นว่าเป็นกรณีพิพาทที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนและทุนทรัพย์ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้คู่พิพาทยังยินยอมดำเนินการตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ต้องร้องขอให้ศาลออกคำบังคับ หมายบังคับคดี และดำเนินการบังคับคดี แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติจากกรณีศึกษา เมื่อเกิดข้อพิพาทแล้วต้องใช้เวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาทในปี 2539 จนกระทั่งได้รับคำชี้ขาดในปี 2550 ประมาณ 11 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่อนข้างสูง กรมชลประทานจึงได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสียเปรียบ ในกรณีมีปัญหาข้อพิพาทและนำเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทางราชการมักจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก นอกจากนี้แบบสัญญาจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 มีดอกจัน (*) กำกับอยู่ที่ข้อสัญญาที่เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ และได้หมายเหตุท้ายระเบียบว่า “ตัดออกหรือให้ใช้ตามความเหมาะสม” รวมถึงมีข้อทักท้วงของกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งเห็นว่าการดำเนินคดีทางศาล คู่กรณีมีโอกาสต่อสู้คดีกันได้ถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกา ผลการพิจารณาคดีย่อมจะได้รับการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้วตามลำดับชั้นของศาล ทำให้คู่กรณีได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในชั้นศาลจะไม่เสีย โดยเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเพียงร้อยละ 2.5 สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้นจึงได้ตัด “กรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการ” ออกจากแบบฟอร์มสัญญาจ้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณ คุณประสาร สิงหเทพ หัวหน้างานคดีสัญญา ฝ่ายคดี กองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ที่ได้กรุณาให้ข้อมูลและเอกสารประกอบการจัดทำกรณีศึกษาในครั้งนี้ และขอขอบพระคุณ อ.ปรัชญา อยู่ประเสริฐ ที่ได้ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนบทความฉบับนี้
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร. วรานนท์ คงสง , ผศ.ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย และคณะที่จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา EL 624 การสัมนาทางการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม จึงทำให้เกิดบทความ กรณีศึกษาการอนุญาโตตุลาการระหว่างส่วนราชการกับเอกชน สัญญาจ้างก่อสร้างขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติ ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง
[1] สัญญาเลขที่ สชป.4/31/2537 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2537. กรมชลประทาน
[2] เอกสารเกี่ยวกับคดี 272/51 ฝ่ายคดี , กองกฎหมายและที่ดิน. กรมชลประทาน
[3] ปรัชญา อยู่ประเสริฐ, 2552. การอนุญาโตตุลาการสำหรับบุคลากรทางการก่อสร้าง. กระบวนการระงับข้อพิพาทในงานวิศวกรรม, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์
[4] กฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[5] การอนุญาโตตุลาการ, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[6] คู่มือการระงับข้อพิพาทสำหรับประชาชน, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[7] ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการมาตรฐาน, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม

ประวัติผู้เขียน
นายธีระพงษ์ ปากเมย วศ.บ. (เกษตร)
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรมบริหาร
โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 8






วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดอกบัวของไทย

ภาพบัวประเภทบัวเผื่อนบัวผัน พันธ์ทองสุก ผู้ผสมและคัดเลือก โดย ดร.เสริมลาภ วสุวัติ ต้นพันธ์นำมาจากบ้านปางอุบล และเป็นต้นที่ได้จากการแยกหน่อจากต้นแม่ที่ปลูกมาแล้วประมาณ 3 ปี สถานที่ปลูกอยู่ที่ กลุ่มงานวิศวกรรม โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 8 ต.เมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุริินทร์ ถ่ายภาพโดย ธีระพงษ์ ปากเมย

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาของสถาบันอนุญาโตตุลาการ



ประวัติความเป็นมาของสถาบันอนุญาโตตุลาการ

(ข้อมูลจาก blogger yongyuth)


สถาบันอนุญาโตตุลาการ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เดิมใช้ชื่อว่า สำนักงานอนุญาโตตุลาการ เป็นหน่วยงานระดับกอง สังกัดสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อมีการแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 โดยศาลยุติธรรมมีประธานศาลฎีกาเป็นผู้นำของศาลยุติธรรม และมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำให้ในปัจจุบันสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นกลุ่มงานสังกัดอยู่ในสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
ดำเนินการส่งเสริมและประสานงานการดำเนินการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์โดยการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการเป็นฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะอนุญาโตตุลาการ ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณา เช่น เตรียมห้องประชุม การประสานวันว่างเพื่อนัดพร้อมกับทุกฝ่าย การบันทึกคำพยาน การสรุปประเด็น ค้นคว้าข้อกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาหรืออื่นๆ เพื่อทำความเห็ประกอบการพิจารณาทำคำชี้ขาด
ดำเนินการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ดำเนินการขึ้นทะเบียนอนุญาโตตุลาการและผู้ประนอมข้อพิพาท
ดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่ศาลส่งมา
ให้คำปรึกษาและความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย


ข้อแนะนำในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ


ในการให้คำปรึกษาและความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการแก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน และประชาชนทั่วไป ผู้ให้คำปรึกษาควรทราบข้อมูล และภาพรวมของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนี้
นอกจากการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการดำเนินการทางศาลแล้ว ยังมีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการอีกทางหนึ่งที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะดำเนินการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ แต่การระงับข้อพิพาท โดยวิธีอนุญาตุลาการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่สัญญามีการตกลงที่จะมอบข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกันให้บุคคลที่สาม หรือที่เรียกว่า "อนุญาโตตุลาการ" เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
การระงับข้อพิพาททางการค้าโดยวิธีอนุญาโตตุลาการอาจกระทำได้ตั้งแต่เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น โดยผู้คัดค้านยังมิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรืออาจกระทำได้แม้ในขณะที่ข้อพิพาทเป็นคดีในศาลแล้วหรืออาจดำเนินการโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการที่คู่พพิพาทตกลงกันใช้บริการ ทำให้การอนุญาโตตุลาการสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทโดย อาจแบ่งตามขั้นตอนในการระงับข้อพิพาทว่าเป็นคดีอยู่ในศาล หรือแบ่งตามวิธีการระงับข้อพิพาทว่าดำเนินการ